ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การจัดการความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาท่อม จ.พัทลุง
ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง ภาษาอังกฤษ Knowledge Management for Community-Based Flood Disaster Risk Reduction in Khlong Nathom Subbasin, Phatthalung
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง รศ.ดร.ไชยวัฒน์ รงค์สยามานนท์
เจ้าของผลงานร่วม ดร.พีรพัฒน์ โกศลศักดิ์สกุล , นางสาวปพิชญา แซ่ลิ่ม , ดร.วราภรณ์ ทนงศักดิ์
คำสำคัญ การจัดการความรู้;อุทกภัยซ้ำซาก;การจัดการภัยโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน;ลุ่มน้ำย่อยคลองนาท่อม
หน่วยงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปีที่เผยแพร่ 2566
คำอธิบาย การจัดการความรู้เพื่อลดความเสี่ยงอุทกภัยโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาท่อม จังหวัดพัทลุง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ให้แก่ชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย คลองนาท่อม จ.พัทลุง 2) เพื่อเสริมศักยภาพกลไกชุมชนในการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยสำหรับชุมชน พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาท่อม จังหวัดพัทลุง โดยโครงการมุ่งดำเนินการในพื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำฯ ร่วมกับเทศบาลเมืองพัทลุง และ ชุมชนกลุ่มเป้าหมายนำร่อง จำนวน 3 ชุมชน อันได้แก่ ชุมชนท่าน้ำหัวนอน ชุมชนบ้านออก และ ชุมชนลำปำ ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองลำปำและทะเลสาบสงขลา ในเขตเทศบาลฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซากทุกปี ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ โดยโครงการได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ใน 3 ด้านประกอบด้วย 1) ด้านการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย 2) ด้านการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย และ 3) ด้านการเสริมศักยภาพกลไกชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ผลจากการดำเนินโครงการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการอันได้แก่ กลุ่มผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจใน 1) สถานการณ์ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบและปัจจัยสนับสนุนการเกิดอุทกภัยในพื้นที่อยู่ในระดับสูง อันเป็นผลจากประสบการณ์การได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่มีมาอย่างยาวนานของชุมชนโดย กลุ่มผู้นำชุมชนจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับสูงมากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่น 2) ด้านการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนไม่มีโครงการ ขณะที่ในด้านของศักยภาพกลไกชุมชนในการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายมีศักยภาพในการลดความเสี่ยงที่สูงกว่าก่อนการดำเนินโครงการ อันจะเห็นได้จากการที่ชุมชนตระหนักในความสำคัญของแผนการรับมืออุทกภัยระดับชุมชนและต้องการผลักดันให้เกิดการนำแผนไปใช้ดำเนินการจริงในพื้นที่ ทั้งนี้โครงการได้ร่วมกับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ในการจัดทำร่างแผนการรับมืออุทกภัยในระดับชุมชนอันประกอบไปด้วยแผนการเตรียมการก่อน ระหว่าง และ หลังการเกิดอุทกภัยใน 11 ประเด็นได้แก่ 1) การสื่อสารในการรับมืออุทกภัย 2) การจัดทำข้อมูลด้านอุทกภัย 3) การประเมินความเสี่ยงจากอุทกภัย 4) การกู้ภัย และการอพยพ 5) สวัสดิการและการพยาบาล 6) การให้ความรู้ด้านอุทกภัย การเตรียมพร้อม 7) การจัดตั้งศูนย์รับมืออุทกภัยระดับชุมชน 8) การรับบริจาคระดับชุมชนเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย 9) การสำรวจบ้านเรือนที่เสียหายจากอุทกภัย เพื่อการปรับปรุง ทำความสะอาด บ้านเรือน ถนน ทางระบายน้ำ พื้นที่สาธารณะ 10) การจัดตั้งกองทุนชุมชนเพื่อช่วยเหลือด้านอุทกภัย และ 11) การเยียวยาด้านอาชีพทางเลือก ซึ่งสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่ประสบอุทกภัยซ้ำซากอื่น ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย คลองนาท่อม จ.พัทลุง ต่อไปได้
กลุ่มการนำไปใช้ประโยชน์ ด้านสังคม/ชุมชน
สาขาการวิจัย
  • สังคมศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เอกสารเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง